หน้าแรก | ข่าวทั่วไป | กรมประชาสัมพันธ์ ผนึกกำลัง 'อสม.' สร้างเครือข่ายต้านข่าวปลอม (Fake News)ภาคประชาชน

กรมประชาสัมพันธ์ ผนึกกำลัง 'อสม.' สร้างเครือข่ายต้านข่าวปลอม (Fake News)ภาคประชาชน

image การสัมมนาสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอม (Fake News)ภาคประชาชน จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2-3 ต.ค.2562

รมต.“เทวัญ ลิปตพัลลภ” ลงนาม MOU ร่วมมือการสื่อสารเผื่อการพัฒนาระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับ อสม.ในโครงการสัมมนาสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอม (Fake News)ภาคประชาชน ด้านกรมประชาสัมพันธ์ขานรับนโยบายระดมนักวิชาการจัดเวทีติวเข้ม นำเสนอชุดความรู้ พร้อมแจกคู่มือศึกษาข่าวปลอม อสม.ภาคอีสานกว่า 300 ชีวิต หวังสร้างความเข้าใจร่วมกันสกัดกั้นข่าวปลอม ข่าวลวง

ผู้สื่อข่าวโคราชฟอรั่มออนไลน์ รายงานว่า เวลา 10.55 น.วันที่ 2 ต.ค.62 ที่ห้องแกรนด์บอลรูมชั้น 7 โรงแรมเฮอร์มิเทจ จังหวัดนครราชสีมา พลโทสรรเสริญ  แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา "สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอม (Fake News)ภาคประชาชน" และบรรยายพิเศษ โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 300 คน เข้าร่วมสัมมนาเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายใหม่ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ใกล้ชิดมากขึ้น และให้เครือข่ายมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของข่าวปลอม (Fake News)สามารถแยกแยะ และมีความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะช่วยสกัดกั้นเฝ้าระวังข่าวปลอม อีกทั้งเพื่อพัฒนาให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านข่าวสารระหว่างภาครัฐ ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยการสัมมนาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม2562

2

สำหรับกิจกรรมการสัมมนา วันที่ 2ตุลาคม 2562 เวลา 11.30-12.00 น. เริ่มการบรรยายหัวข้อบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกับการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสังคม  โดยวิทยากร ดร.เมธี  จันท์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ส่วนช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นการนำเสนอชุดความรู้ประกอบด้วย 1)ความรู้ ความเข้าใจข่าวปลอม(Fake News) โดยผู้แทนจากภาคสื่อมวลชน "รู้ทันข่าวปลอมในมิติต่างๆ" ข่าวปลอมคืออะไร พร้อมทั้งวิธีสังเกตกรณีตัวอย่างข่าวปลอมที่สร้างความเสียหาย 2) แนะนำ Fake News Centerโดยตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3)กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข่าวปลอม ลักษณะความผิดและบทลงโทษ 4) ผลกระทบจากข่าวปลอมในมิติเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย 5)เครือข่ายภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังข่าวปลอมอย่างไร

 

7

 คณะผู้ให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าวประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้อยตำรวจเอกวีระพงษ์  แนวคำดี รองสารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี,  นักวิชาการสื่อมวลชน ดร.กิตติธัช  ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังและอาจารย์พิเศษด้านปรัชญาการเมือง ผู้แทนจากภาคสื่อมวลชน คุณสุปัน รักเชื้อ อุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  และตัวแทนเครือข่าย อสม.โดยมีนายปรเมษฐ์ ภู่โต ผู้ดำเนินรายการคุยถึงแก่นช่อง NBT2HDเป็นผู้ดำเนินรายการ

 

6

และในช่วงเวลา15.15 น. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการสื่อสารเผื่อการพัฒนาระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)โดยพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนายไพฑูรย์  บุญอารักษ์ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งการลงนามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอม (FAKE NEWS)ภาคประชาชน ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์จัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อผนึกกำลังกับ อสม. ให้ช่วยกันสกัดกั้นข่าวปลอม ข่าวลวง ตามนโยบายของรัฐบาล

 

5

สำหรับโครงการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอม (FAKE NEWS)ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการอบรมและสร้างเครือข่ายในภาคต่างๆ มาแล้ว 2 เวที ได้แก่เวทีภาคกลางที่จังหวัดอยุธยา และเวทีภาคเหนือที่พิษณุโลก ซึ่งการลงนามในวันนี้มี อสม.จากภาคอีสานมาร่วมในพิธีจำนวนประมาณ 300 คน และหลังจากการอบรมสัมมนา เพื่อสร้างการรับรู้และรู้เท่าทันเรื่องข่าวปลอม แล้ว จะมีการสร้างกลุ่มไลน์ เพื่อให้ อสม. เป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชน

 

8


ส่วนวันที่ 3 ตุลาคม 2562ตลอดทั้งวัน เป็นกิจกรรมการปฏิบัติร่วมกันระหว่าง อสม.กับกรมประชาสัมพันธ์ และนำเสนอสรุปผลการประชุมกลุ่ม ซึ่งการสัมมนาสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอม(Fake News)ภาคประชาชน จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายที่เข้าถึงประชาชนได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพตามนโยบายของนายเทวัญ ลิปพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

4

พลโทสรรเสริญ  แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลในการกำหนดความรับรู้ของผู้คนในสังคมมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของประชาชนทั้งด้านสุขภาพและชีวิต ขณะเดียวกันก็มีด้านลบที่เป็นปัญหาของสังคม ปัญหาในขณะนี้มีการเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News)แพร่ระบาดมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสังคมหลากหลายมิติ โดยสร้างความแตกแยกทำให้คนเข้าใจผิดในแง่การทำงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและความเสียหายต่อการทำงานของภาครัฐและธุรกิจการค้า และหลังข่าวปลอมถูกเผยแพร่ มีผู้ตกเป็นเหยื่อช่วยแชร์โดยตนเองไม่รู้จำนวนมาก ในขณะที่การทำงานของภาครัฐมีข้อจำกัดที่จะรับมือกับปัญหานี้โดยไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านข่าวสารระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ  จึงเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

 

3

ทางด้านนายเทวัญ  ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ว่า อสม.ถือเป็นองค์กรภาคประชาชนที่เข้มแข็งโดยมีเครือข่ายทั้งประเทศกว่า 1 ล้านคน และสามารถเข้าถึงประชาชนได้ใกล้ชิดที่สุด เราจึงอาศัย อสม. เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวปลอมคัดกรองตรวจสอบข่าวจริง ข่าวปลอมก่อนแชร์ หากขยายไปถึงกลุ่มญาติ พี่น้องของ อสม. จะเป็นเครือข่ายที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาได้จัดอบรมที่ จ.พิษณุโลกและ จ.พระนครศรีอยุธยา แนวคิดต่อไป มีโครงการจัดอบรมให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและผู้นำท้องถิ่นฝากถึงประชาชนการรับข้อมูลทางสื่อโซเชียลขอให้วิเคราะห์ ตรวจสอบสังเกตก่อนจะแชร์ หากสงสัยสามารถสอบถาม ได้ที่สายด่วนกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อกับการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้

 

9

10

 

11

12

 

ส่งข่าวนี้ไปยัง: Digg this story Digg Facebook Share Facebook

ความคิดเห็น ( จำนวนโพส):

โพสแสดงความเห็นของคุณ comment
กรุณาใส่รหัสตามภาพที่เห็น:
หมวดหมู่
หัวข้อข่าวนี้ไม่ระบุหมวดหมู่
ให้คะแนนระดับความนิยม
5.00
ais adv