KORATFORUM.NET: เลขาฯ ส.ป.ก.เผยที่ดินวังน้ำเขียว 35% ครอบครองผิดกฎหมาย เดินหน้าทำประชาพิจารณ์ 'วังน้ำเขียวโมเดล' ================================================================================ ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / ข่าว on 30 เมษายน 2559  17:13 น.   ทั้งนี้นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)เปิดเผยว่าอำเภอวังน้ำเขียวมีพื้นที่จำนวนประมาณ 706,243 ไร่ มีประชากรประมาณ 62,079 คน และครัวเรือนประมาณ 16,956 ครอบครัว ทุกพื้นที่ของอำเภอวังน้ำเขียวถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกา(ฉบับพิเศษ) เล่มที่ 95 ตอนที่ 107 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2521 มีเนื้อที่ครอบคลุม 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลไทยสามัคคี ตำบลระเริง ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลวังหมี และตำบลอุดมทรัพย์ สถานการณ์ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ในอำเภอวังน้ำเขียว คือ ปัญหาด้านการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อกฎหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ได้แก่ การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอวังน้ำเขียว คิดเป็นร้อยละ 34.18 ของพื้นที่ ตามข้อมูลการตรวจสอบสิทธิและการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียวปี 2554 พบว่ามีการก่อสร้างรีสอร์ท 112 แห่ง ซึ่งฝ่ายกฎหมาย ส.ป.ก.ดำเนินการฟ้องร้องไปกว่า 10 คดี โดยทั้งหมดมีการฟ้องร้องสิ้นสุดคดี และอยู่ระหว่างการบังคับคดี มีคำสั่งให้มีการออกนอกพื้นที่จำนวน 2 แห่ง ครัวริมเขื่อน และไร่มิตรแท้ มีพื้นที่กว่า 300 ไร่ อย่างไรก็ตาม ส.ป.ก.ได้เร่งฟ้องดำเนินคดีกับผู้ถือครองผิดกฎหมายมาตลอด ยอมรับว่าในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มีเกษตรกรที่ถือครองถูกกฎหมายเพียงร้อยละ 65 และทำผิดกฎหมายโดยขายที่ให้กลุ่มเอกชนต่างๆ กว่าร้อยละ 35 ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นทาง ส.ป.ก.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดทำแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ในเขตพื้นที่วังน้ำเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาและ ตามยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 11 "วันนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทำประชาพิจารณ์ ในพื้นที่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด โดยทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และจังหวัดนครราชสีมา มีแผนส่งเสริมพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เป็นการพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยอาจปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนเป็นที่พักอาศัยให้กับนักท่องเที่ยว จะเป็นการดำเนินการของเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิเป็นหลัก จัดทำในลักษณะโฮมสเตย์ โดยในส่วนของ ส.ป.ก. มีการศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ทั้งนี้ พื้นที่ ส.ป.ก.มีปัญหามาอย่างยาวนาน การแก้ปัญหาจะต้องยึดถือกฎหมายเป็นหลักและดำเนินการอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามวันนี้เราต้องยอมรับว่ามีพื้นที่ของ ส.ป.ก. ในหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามการเจริญเติบโตของพื้นที่” เลขา ส.ป.ก.กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้เราต้องดูสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน ถึงจะสามารถแก้ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ได้อย่างยั่งยืน การเปลี่ยนมือและใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์หรือผิดระเบียบกฎหมาย ส.ป.ก.นั้น แม้ว่า ส.ป.ก.สามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้เองแต่ก็เป็นไปอย่างล่าช้า เราต้องดูกฎหมายของเราในปัจจุบันว่าทันสมัยหรือไม่ ทันต่อการพัฒนาประเทศหรือเปล่า เวทีประชาพิจารณ์แผนแม่บทการใช้พื้นที่ส.ป.ก.ในวังน้ำเขียว จึงเป็นภาพสะท้อนที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับฟังข้อเสนอที่ได้ในวันนี้จะเป็น “วังน้ำเขียวโมเดล” ที่ ส.ป.ก. จะได้นำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินของประเทศต่อไป” // อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ชงให้ม.44 ลุยวังน้ำเขียวโมเดล ยึดรีสอร์ท 112 แห่งเป็นของรัฐ http://www.naewna.com/local/213665 ชงใช้ม.44ยึดคืนที่ส.ป.ก. นายทุนใหญ่500ราย33จว. อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/politics/394853