KORATFORUM.NET: ฝรั่งทึ่ง! 'แสงซินโครตรอน' สร้างกระจกเกรียบโบราณ รองรับการบูรณะ 'วัดพระแก้ว' ของไทยอายุกว่า 150 ปี ================================================================================ www.koratforum.net on 21 สิงหาคม 2555  10:22 น.   ทั่วโลกรู้จักวัดพระแก้ว พอๆ กับที่รู้จักประเทศไทย ที่สำคัญในเชิงมรดกทางวัฒนธรรม วัดพระแก้วเป็นสัญญลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่เริ่มรัชกาลที่ 1 ดังนั้นศิลปะทุกแขนง ที่เป็นศิลปะชั้นสูงจะอยู่ในวัดพระแก้วหมดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นงานปั้น งานจิตรกรรมฝาผนัง และงานประดับกระจกที่กำลังจะฟื้นชีพขึ้นมาอีกครั้งด้วยเทคนิคทางแสงซินโครตรอน และ กำลังเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์กรมหาชน) จ.นครราชสีมา ได้ ทำการศึกษาคุณสมบัติของกระจกเกรียบจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยศึกษาทั้งองค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างอะตอมของกระจำตัวอย่างด้วยแสงซินโครตรอน เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะทำกระจกเกรียบขึ้นมาใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมือนของเดิม ทุกประการ สำหรับใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์ในอนาคต ทั้งนี้ ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ หนึ่งในทีมงานนักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ถวายรายงาน “แสงซินโครตรอนกับการศึกษากระจกเกรียบโบราณของไทย” เพื่อการใช้ประโยชน์ต่อการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง แก่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม “เวทีวิจัยด้านแสงซินโครตรอนภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ครั้งที่ 6” เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2555 ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กรุงเทพมหานคร โดย มีนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ซึ่งต่างให้ความสนใจและชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ไทยที่สามารถใช้แสงซินโครตรอน ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างน่าทึ่ง และงานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นผลงานชิ้นแรกและชิ้นสำคัญของสถาบันแสงซินโครตรอน ที่ต้องการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย สำหรับงานหุงกระจกและงานประดับกระจกเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของงานช่างสิบหมู่โบราณของประเทศไทย มีความเจริญรุ่งเรืองนับแต่รัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย ฝาผนังด้านนอกเดิมเป็นลายทองรดน้ำพื้นสีแดง ได้ทำการแก้เป็นลายปั้นปิดทองพื้นประดับกระจกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระจกดังกล่าวรู้จักกันในนามว่า “กระจกเกรียบ” เนื่อง จากมีลักษณะบางเหมือนข้าวเกรียบ สามารถตัดเป็นชิ้นได้ง่าย เหมาะสำหรับงานประดับลวดลายอันละเอียดสวยงาม นอกจากการประดับตกแต่งฝาผนังแล้ว ยังได้ถูกนำมามาใช้ตกแต่ง บุษบก เครื่องราชภัณฑ์ เครื่องใช้ทางศาสนาและวัตถุโบราณอันมีค่าต่างๆ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดาย ยิ่งที่งานหุงกระจกและงานประดับกระจกขาดช่างฝีมือสืบทอดต่อกันมา จนในปัจจุบันยังไม่พบว่ามีแหล่งผลิตกระจกเกรียบในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องใช้กระจกจากต่างประเทศในการซ่อมบำรุง ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ นักวิจัยประจำสถาบันแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) หนึ่งในทีมงานนักวิจัย ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาสูตรการหุงกระจกเกรียบให้เหมือนกับของเดิมมากที่ สุด เปิดเผยว่า ในการศึกษากระจกเกรียบโบราณด้วยแสงซินโครตรอน ทางคณะวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล, ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ และตนได้กระจกมา 2 ชุด จากสำนักพระราชวัง โดยการขอพระราชทานมาจากสมเด็จพระเทพฯ ชุดหนึ่งเป็นกระจกที่ใช้ประดับเสาหางของพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระอุโบสถที่มีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ เป็นส่วนหนึ่งที่หลุดลงมา ซึ่งทางสำนักพระราชวังได้เก็บรักษาไว้ และนำมาให้ทางทีมวิจัย ส่วนชุดที่สองเป็นตัวอย่างที่ได้มาจากกระจกที่ใช้ตกแต่งฐานของพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 ในปราสาทพระเทพบิดร คณะนักวิจัยได้วิเคราะห์องค์ประกอบของกระจก โดยใช้แสงซินโคร-ตรอนตรวจสอบด้วยเทคนิคการเรืองแสงในย่านพลังงานรังสีเอ็กซ์ ว่ากระจกแต่ละสีประกอบด้วยธาตุชนิดใดบ้าง และมีปริมาณเท่าไร นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างอะตอมของธาตุ องค์ประกอบเหล่านั้นว่าเรียงตัวกันแบบใด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการเกิดสีแต่ละสีในเนื้อแก้ว ของกระจก ล่าสุดทีมงานวิจัยประสบความสำเร็จได้สูตรการทำกระจกเกรียบมาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ทดลองเผา ทดลองหลอมแก้ว และวิเคราะห์สี เพราะจุดตั้งต้นที่ใช้จากการเผา มีบางส่วนที่ระเหิดไปจากกระบวนการหลอมแก้ว ได้สีไม่ตรงกับของดั้งเดิม ต้องมาศึกษาอย่างละเอียดอีกทีว่า มีธาตุอะไรที่หายไปบ้าง และปรับสัดส่วนของธาตุให้เข้าสูตร สุดท้ายเราได้สีที่เหมือนกับของดั้งเดิม เรารู้องค์ประกอบของกระจกที่มีอายุ 150 ปีแล้ว แต่ระหว่างในกระบวนการใช้งานจาก ปีที่ 1 ถึงปีที่ 150นั้น กระจกนี้ผ่านการกัดกร่อนทางธรรมชาติ องค์ประกอบบางส่วนอาจหายไป เพราะฉะนั้นสูตรที่เราได้จากการวิเคราะห์ แม้จะไม่สมบูรณ์เหมือนกระจกโบราณเมื่อ150 ปีก่อน แต่ยืนยันได้ว่าจะมีความใกล้เคียงมากที่สุด สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นผลงานชิ้นแรกและชิ้นสำคัญของสถาบันแสงซินโครตรอน ที่ต้องการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ดร.วันทนา กล่าว