หน้าแรก | รายงานพิเศษ | มทส. 26 ปี แห่งความภาคภูมิใจ สร้างสรรค์นวัตกรรมแก่วงการอุดมศึกษาไทย

มทส. 26 ปี แห่งความภาคภูมิใจ สร้างสรรค์นวัตกรรมแก่วงการอุดมศึกษาไทย

image

มทส. แถลงผลสัมฤทธิ์การดำเนินงาน เนื่องในโอกาสครบ 26 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทย เผยผลงานในรอบปีเติบโตเกินแผน ก้าวขึ้นสู่ TOP 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ก้าวต่อไป “Global Vision : Local Missions” มุ่งสร้างสรรค์ผลงานและองค์ความรู้คู่เคียงสังคม และมุ่งสู่มาตรฐานสากล พร้อมแถลงบทบาทของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 5 ด้าน หวังเป็นเสาหลักด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย

ผู้สื่อข่าวโคราชฟอรั่มออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (26 ก.ค.)  ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เป็นประธานในการแถลงข่าวแถลงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน มหาวิทย าลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เนื่องในโอกาสครบ 26 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย เผยผลงานในรอบปีเติบโตเกินแผน ก้าวขึ้นสู่ TOP10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ก้าวต่อไปมุ่งสร้างสรรค์ผลงานและองค์ความรู้คู่เคียงสังคม และมุ่งสู่มาตรฐานสากล พร้อมแถลงบทบาทของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (SUT-Center of Excellence: SUT-CoE) 5 ด้าน เพื่อเป็นเสาหลักด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย  ที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

5

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท  สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “มทส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งด้านการบริหาร การเรียนการสอนและการวิจัย โดยเป็นผู้นำและต้นแบบให้วงการอุดมศึกษาไทย ทั้งการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งแรก เป็นผู้นำระบบสหกิจศึกษามาใช้กับอุดมศึกษาของไทยเป็นแห่งแรก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มทส. มุ่งมั่นพัฒนาในทุกภารกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรมควบคู่ไปกับการยืนหยัดเป็นสถาบันคู่เคียงสังคม จนก้าวมาครบ 26 ปี ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ได้รับการยอมรับทางด้านวิชาการ ด้านการประกันคุณภาพทางการศึกษา ผลการจัดอันดับจากองค์กรภายนอกและองค์กรต่างประเทศ มทส. อยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น QS University Rankings, Round University Rankings, The Times Higher Education Rankings, University Ranking by Academic Performance (URAP) ได้รับการจัดอันดับดีมากของ Nature Publishing Group and Nature Index เป็นต้น”

 

3

สำหรับทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยก้าวต่อไป อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มทส. มุ่งสู่ Global Vision : Local Missions การสร้างองค์ความรู้ งานวิจัย นักวิจัย และเครื่องมือต่าง ๆ ได้มาตรฐานสากล สู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก หรือ World Class University ในขณะที่ต้องดำเนินพันธกิจทำงานคู่เคียงไปกับชุมชนและสังคม ทั้งด้านการเรียนการสอนส่งเสริมให้บัณฑิตคิดนำทำเป็น หลักสูตรมีความเป็นนานาชาติ เป็น 2 ภาษา บัณฑิตมีทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศที่ดี

โดยเฉพาะอาชีพเสรีอาเซียน 8 สาขา ด้านการวิจัย มทส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม ต้องผลิตงานวิจัยที่สร้างสรรค์มูลค่า (Value Creation) ด้านพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน (University Engagement) โดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐบาล ที่นำปัญหาของชาติมาเป็นโจทย์วิจัย รวมถึงกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งเป็นการยืนยันความเป็นสถาบันคู่เคียง เป็นที่พึ่ง และเป็นสมองของสังคม อีกทั้งมหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรใหม่ “การประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและการออกแบบธุรกิจ” มุ่งปรับบทบาทของ มทส. ให้เป็น Entrepreneurial University ต่อไป

12

นอกจากนี้ ในอีก 2 ปีข้างหน้า ยังเตรียมแผนการขยายโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยจาก 120 เตียง เป็น 920 เตียง รองรับการรักษาระดับตติยภูมิของเขตสุขภาพที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) รวมถึงเป็นแหล่งผลิตบุคลากรและงานวิจัยทางการแพทย์ระดับสูง สำหรับโรงเรียนสุรวิวัฒน์ ซึ่งเปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 เป็นรุ่นแรกในปีการศึกษา 2559 ก็มีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รองรับการศึกษาค้นคว้าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษา เพื่อเชื่อมโยงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไปสู่ระดับมัธยมศึกษา” อธิการบดี มทส. กล่าว

สำหรับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (SUT-Center of Excellence: SUT-CoE) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 เนื่องในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลอง 25 ปี มทส.นั้น เป็นการบูรณาการคณะนักวิจัยจากหลากหลายสาขาวิชา มาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน เน้นการวิจัยแบบมุ่งเป้า เพื่อเป็นเสาหลักและสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย

6

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง  เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร เปิดเผยว่า “เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการทางเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน สร้างนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ครอบคลุมทั้งด้านพืช สัตว์ อาหาร การตรวจสอบสารพิษในผลิตภัณฑ์เกษตร และผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากวัสดุทางการเกษตร โดยมีงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ครัวโลก อาทิ หัวเชื้อ PGPR เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซ่า การปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวและกล้วยไม้ให้ต้านทานโรค เทคนิคการทำ germ cell transplantation ผลิตภัณฑ์โคเนื้อโคราชวากิว ผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อโคราช การผลิตเพปไทด์ที่มีฤทธิ์ควบคุมความดันจากเนื้อสัตว์และปลา การผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลจากมันสำปะหลังและไบโอแก๊สจากกากมัน เป็นต้น

7

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง
ศาสตราจารย์ ดร.สันติ  แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทของศูนย์นี้ว่า “เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูงกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง เน้นประยุกต์ใช้งานด้านการกักเก็บพลังงาน ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม  และด้านชีวะการแพทย์ ผลิตอุปกรณ์ต้นแบบที่ใช้วัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง เช่น อุปกรณ์ตัวเก็บประจุ เซลล์ผันไฟฟ้าจากความร้อน เซลล์แสงอาทิตย์ หรืออุปกรณ์ตรวจวัด สร้างงานวิจัย องค์ความรู้ และทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพในระดับสากล รวมทั้งสร้างเครือข่ายการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

 

8

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์ดาราศาสตร์
อาจารย์ ดร.ขรรค์ชัย  โกศลทองกี่ นักวิจัยสาขาวิชาฟิสิกส์ กล่าวถึงเป้าประสงค์ของศูนย์นี้ว่า “เพื่อเพิ่มกิจกรรมการวิจัยทั้งเชิงทฤษฎีและการทดลอง สนับสนุนคณาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ ส่งเสริมการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง พัฒนาความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและห้องปฏิบัติการวิจัยระดับโลก อาทิ IHEP, PANDA, UCAS, ALICE ซึ่ง มทส. นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของ ALICE สถานีวิจัยทดลองแห่งหนึ่งของห้องปฏิบัติการวิจัยเซิร์น (CERN) ทั้งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมของนักวิจัยและเป็นศูนย์กลางการวิจัยทางด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของไทยและในภูมิภาคอาเซียน”

9

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน
อาจารย์อาทิตย์ อุดมชัย นักวิจัยสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา กล่าวว่า “ศูนย์นี้มีพันธกิจด้านการเพิ่มขีดความสามารถของวัสดุเหลือทิ้งจากขบวนการก่อสร้างและรื้อถอน ให้มีความแข็งแรง ทนทาน และปลอดภัย การพัฒนาวัสดุประสานต้นทุนต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น จีโอพอลิเมอร์ แมกนีเซียมซีเมนต์ เบไลต์ซีเมนต์ การประยุกต์ใช้วัสดุนาโน วัสดุสังเคราะห์ การพัฒนาอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพลดการนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาระบบจราจรและขนส่งของประเทศ การจัดอบรมและงานประชุมวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน”

 

10


ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย  อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี กล่าวว่า “ด้วยความมุ่งมั่นให้เป็นศูนย์วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญอันดับหนึ่งของประเทศด้านชีวมวล การจัดการขยะ และพลังงานทดแทน โดยพัฒนารูปแบบการจัดการชีวมวล ของเสียชุมชน และของเสียอันตรายให้เกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนจากชีวมวล ของเสียชุมชน รวมไปถึงเทคโนโลยีการกำจัดของเสียอันตรายให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพนักวิจัย เผยแพร่งานวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา อาทิ การสร้างความร่วมมือการทำวิจัยด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศ มอบหนังสือรับรองการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรในเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิง RDF ด้วยระบบจัดการขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ (SUT-MBT) แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 26 แห่ง การขับเคลื่อนเทคโนโลยีจัดการขยะแบบครบวงจรของ มทส. สู่ภาคประชารัฐ สร้างต้นแบบระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลและขยะชุมชนขยายไปสู่ชุมชนต่าง ๆ เป็นต้น”

13

วันนี้ มทส.ครบ 26 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ด้วยเป้าหมายที่จะยกระดับการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยมาตรฐานโลก และพร้อมคู่เคียงกับสังคม เป็นมันสมองและเป็นสติที่ช่วยนำสังคมและชุมชนให้เดินหน้าได้ถูกทาง

ส่งข่าวนี้ไปยัง: Digg this story Digg Facebook Share Facebook

ความคิดเห็น ( จำนวนโพส):

โพสแสดงความเห็นของคุณ comment
กรุณาใส่รหัสตามภาพที่เห็น:
หมวดหมู่
หัวข้อข่าวนี้ไม่ระบุหมวดหมู่
ให้คะแนนระดับความนิยม
5.00
ais adv